Icon Close

นิตยสาร Creative Thailand ปีที่ 3 ฉบับที่ 10

แถลงการณ์จากความบีบคั้น

ราวเดือนตุลาคมปีที่แล้ว กลุ่มแบรนด์เสื้อผ้าเล็กๆ สัญชาติญี่ปุ่น 14 แบรนด์ ได้ร่วมกันเปิดร้านค้าชั่วคราวในสิงคโปร์ ภายใต้ชื่อ “ฮาราจูกุ สตรีท สไตล์ (Harajuku Street Style)” โดยมีจุดประสงค์เพื่อแผ่ขยายอิทธิพลแฟชั่นสไตล์ฮาราจูกุให้แทรกซึมและเข้าถึงวัยรุ่นเอเชียอย่างเอาจริงเอาจัง

อันที่จริงแล้ว ไม่มีอะไรน่าประหลาดใจและไม่มีอะไรใหม่ ทั้งฮาราจูกุ ถนนแฟชั่นที่วัยรุ่นได้แสดงออกถึงความบิดเบี้ยวจากขนบดั้งเดิม หรือ สตรีท แฟชั่น ซึ่งทุกวันนี้ได้กลายเป็นรูปแบบหนึ่งของอุตสาหกรรม ตั้งแต่ ฟาสต์ แฟชั่น (Fast Fashion) จนถึง โอต์ กูตูร์ (Haute Couture) แต่ความน่าสนใจก็คือ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) คือผู้สนับสนุนหลักของโครงการดังกล่าว

คำถามก็คือ อะไรดลใจให้ METI อันเกรียงไกรของญี่ปุ่น ซึ่งเคยให้ความสลักสำคัญแต่กับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า มายาวนานหลายสิบปี หันมาให้ความสำคัญกับความเพี้ยนของวัฒนธรรมการแต่งกายวัยรุ่นบนท้องถนนในโตเกียว และยังมอบความไว้วางใจให้คนกลุ่มนี้มีบทบาทในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ คำตอบก็คือ ญี่ปุ่นกำลังว้าเหว่กับสภาพการแข่งขันในตลาดสินค้าอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่ต้องสู้กับเกาหลีใต้และจีน รวมถึงภัยพิบัติสึนามิที่กระตุ้นให้ญี่ปุ่นต้องลุกขึ้นทำอะไรใหม่เพื่อสร้างจิตวิญญานของตนเอง ซึ่ง METI เรียนสิ่งนั้นว่า "คูล เจแปน” (Cool Japan)” อันเป็นนโยบายส่งเสริมฐานที่มั่นใหม่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมีองค์ประกอบคือ แฟชั่น ดนตรี อาหาร และแอนิเมชั่น โดยมีการจัดตั้งสำนักงาน The Cool Japan Promotion Strategy Program ขึ้นในMETI เพื่อตั้งเป้าที่จะส่งออกสินค้าจากความสร้างสรรค์ของญี่ปุ่นให้ได้ 140 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2020 และที่ทำให้ประหลาดใจขึ้นไปอีกก็คือ การที่แคมเปญนี้จะถูกบรรจุรวมไว้ในการประชุมไอเอ็มเอฟ (IMF) และเวิลด์ แบงค์ (World Bank) ที่โตเกียวในปีนี้ด้วย

ความเพี้ยนของฮาราจูกุ กับวาระประชุมไอเอ็มเอฟเป็นเรื่องน่าพิศวง แต่เมื่อหันไปมองปรากฏการณ์ที่METIกำลังต่อสู้ดิ้นรนอยู่นี้ อาจไม่ต่างจากอุตสาหกรรมในระบบทุนนิยมทั่วโลกที่กำลังเดินมาถึงทางแคบและตีบตัน เพราะอยู่ๆ แฟชั่น ดนตรี และศิลปะ ก็หมดทางที่จะหยิบฉวยความอลังการมานำเสนอ ความเฉาที่เกิดจากความซ้ำซากนี่เองที่ก่อให้เกิดอาการหายใจติดขัดในอุตสาหกรรมการผลิต ด้วยเหตุนี้ เมื่อหันไปได้ยินสำเนียงแปร่งหูที่เคยเป็นเรื่องน่ารำคาญ อึกทึก และกวนใจ ก็กลับกลายเป็นเรื่องน่าชื่นชมของวันนี้ เสียงที่กร่นด่าสังคมถึงความต่ำต้อย กดขี่ ของเพลงฮิปฮอป การบ่อนทำลายแบบกราฟฟิตี้ หรือรสชาติอาหารของผู้ใช้แรงงาน จึงกลายเป็นต้นทุนที่สดใหม่ทางความคิด อีกทั้งยังสร้างความใกล้ชิดระหว่างความเห็นอกเห็นใจในความนอกคอก ให้เกิดเป็นความนิยมในรูปแบบการใช้ชีวิตสมัยใหม่ร่วมกัน

วัฒนธรรมเล็กๆ จากท้องถนนได้แสดงเจตจำนงอย่างชัดเจนถึงความบีบคั้นที่พวกเขาได้รับจากความไม่เป็นธรรมของสังคม ถ้อยแถลงของโลกอุตสาหกรรมก็เช่นกัน เมื่อความบีบคั้นทางเศรษฐกิจได้ถาโถมเข้ามา บรรทัดฐานด้านความงาม ความไพเราะ และความเลอเลิศ ก็เปลี่ยนแปลงได้ทั้งนั้น

ในเล่มพบกับ...
Classic Item… BOOMBOX
Creative Entrepreneur… PREDUCE "พริ้วดี" รู้เล่นอย่างมืออาชีพ
Cover Story… STREET SMART เมื่อหนูช่วยราชสีห์
Creative City…MANHATTAN: STREET IS WHERE IT AT
The Creative… STREET SAVVY กับ CHRIS BOWDEN
ประเภทไฟล์
pdf
วันที่วางขาย
29 มิถุนายน 2555
ความยาว
36 หน้า
ราคาปก
ฟรี
เขียนรีวิวและให้เรตติ้ง
คุณสามารถเข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็นได้จ้า