Icon Close

นิตยสาร Creative Thailand ปีที่ 5 ฉบับที่ 10

นิตยสาร Creative Thailand ปีที่ 5 ฉบับที่ 10
5.00
Icon RatingIcon RatingIcon RatingIcon RatingIcon Rating
1 Rating
ประเภทไฟล์
pdf
วันที่วางขาย
01 กรกฎาคม 2557
ความยาว
36 หน้า
ราคาปก
ฟรี
นิตยสาร Creative Thailand ปีที่ 5 ฉบับที่ 10
โดยTCDC
ปราดเปรื่อง กับ เปล่าประโยชน์

ระหว่างที่นักท่องเที่ยวกำลังเพลิดเพลินกับการเดินท่องเมืองโคเปนเฮเกน น้อยคนนักจะรู้ว่าบางส่วนของเมืองแห่งนี้ โดยเฉพาะเขตคริสเตียนชาว์น (Christainshavn) คือพื้นที่ที่เกิดมาจากการถมขยะลงในทะเล แม้วิธีการนี้จะไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอีกแล้วในปัจจุบัน แต่ถ้าเป็นเมื่อ 400 กว่าปีก่อน คริสเตียนชาว์นที่เกิดขึ้นในปี 1600 โดยพระเจ้าคริสเตียนที่ 4 ผู้มองการณ์ไกลและต้องการสร้างโคเปนเฮเกนให้เป็นศูนย์กลางการค้าของทวีปยุโรปเพื่อเทียบรัศมีกับอัมสเตอร์ดัม ด้วยการสร้างพื้นที่ค้าขายในเขตชานเมืองจากการจมเรือรบเก่า 2-3 ลำ และเทขยะถมลงไปในทะเล ก่อนจะยื่นข้อเสนอให้ชาวเมืองย้ายเข้าไปอยู่ในพื้นที่ใหม่โดยมีแรงจูงใจเป็นการไม่ต้องเสียภาษีนาน 12 ปี ทั้งหมดนี้ก็นับเป็นความหลักแหลมของผู้นำทั้งทางด้านเศรษฐกิจและนวัตกรรมการก่อสร้างจากเศษขยะแบบตรงไปตรงมาที่ทำให้โคเปนเฮเกนส่องประกาย

อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าทึ่งของการปลดแอกจากปัญหาขยะเพื่อนำโลกไปสู่สหัสวรรษที่ 3 อยู่ที่เมืองลินซ์ (Linz) ในออสเตรีย เมืองที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ด้วยมุมมองด้านพลังงาน ผังเมือง และอาคารที่ออกแบบสำหรับคน 25,000 คน ภายใต้โครงการโซลาร์ซิตี้ (solarCity) ที่เริ่มต้นเมื่อปี 1999 และเสร็จสิ้นในปี 2006 โดยได้สถาปนิกอย่างนอร์แมน ฟอสเตอร์ (Norman Foster) และริชาร์ด โรเจอร์ส (Richard Rogers) มาร่วมกันออกแบบเมืองด้วยการหลอมรวมความพิเศษด้านสถาปัตยกรรมเข้ากับโครงสร้างวิศวกรรมประหยัดพลังงาน ทั้งการวางทิศทางอาคารให้รับพลังงานลมและแสงอาทิตย์ โครงสร้างสาธารณูปโภคที่ละเอียดลออตั้งแต่การรับของเสียจากบ้านแต่ละหลังไปสู่บ่อบำบัดที่จะแยกเอากรดยูเรียออกจากปัสสาวะ อันเป็นหนึ่งในสามวิธีการบำบัดน้ำ คือ น้ำจากร่างกายมนุษย์ น้ำจากครัวเรือน และน้ำจากอาคารพาณิชย์ เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและอนามัยสูงสุด ระบบขนส่งในโครงการยังใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นตัวขับเคลื่อนระบบรถราง ในระยะแรกโครงการได้จัดทำที่อยู่อาศัยไว้ราว 1,400 ยูนิต สำหรับ 3,000 คน แต่ปัจจุบันโครงการกำลังขยายตัวเพราะมีผู้สนใจเกินความต้องการ 3-4 เท่า ทั้งยังมีเป้าหมายที่ทะเยอทะยานต่อไปในการลดมลพิษต่างๆ พร้อมกับการสร้างเมืองที่มีชีวิตชีวา และก้าวข้ามความรู้สึกการทำเพื่อปกป้องโลก แต่ให้การช่วยโลกนี้อยู่ในการดำเนินชีวิตของผู้คนได้อย่างไม่ต้องสงสัย

ในวันนี้ แนวคิดเรื่องการบริหารจัดการขยะมีความซับซ้อนทั้งในมิตินวัตกรรม จวบจนการสร้างสภาวะขึงเกลียวในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้สั่นคลอนได้ การบริหารจัดการขยะจึงไม่ใช่เพียงการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ เพราะท่ามกลางวิกฤตการณ์ขยะที่มีอยู่ทั่วโลก ก็ยังมีข้อกังขาเกี่ยวกับกระบวนการกำจัดขยะว่าเป็นมาตรการที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ เช่นรายงานฉบับหนึ่งขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (The United States Environmental Protection Agency: EPA) ที่ได้เสนอสมมติฐานว่า การทำลายขยะประเภทกระดาษ พลาสติก และไม้ด้วยการเผานั้นมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการรีไซเคิลวัสดุเหล่านั้น เพราะถือเป็นการเผาวัสดุอินทรีย์ให้กลับมาเป็นพลังงานหมุนเวียนต่อไป นับเป็นการแสดงถึงความสงสัยใคร่รู้ในสิ่งที่ได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของโลกสีเขียว ว่ากระบวนการรีไซเคิลที่ทำกันแพร่หลายจนเป็นเครื่องมือทางการตลาดชนิดหนึ่งนั้นเป็นความยั่งยืนที่แท้จริงหรือไม่ และเมื่อผู้คนและสังคมมีบทเรียนมากขึ้นกับปัญหามลพิษจากขยะที่ทุกคนมีส่วนรู้เห็นและเป็นต้นตอของมัน ก็ยิ่งทำให้ต้องมองย้อนกลับไปถึงการก่อกำเนิด การบริหารจัดการ การอยู่ร่วม และรับมือกับสภาวการณ์ดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

ความปราดเปรื่องของมนุษยชาติได้สร้างสิ่งที่น่าสนเท่ห์มากมาย การบริหารจัดการกับสิ่งที่คนเราไม่ต้องการมันแล้วนั้น จะดำเนินต่อไปด้วยนวัตกรรมที่ลึกซึ้งและถี่ถ้วนมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้สิ่งที่เราไม่ต้องการนั้น กลับกลายเป็นสิ่งที่เราขาดไม่ได้นั่นเอง
ประเภทไฟล์
pdf
วันที่วางขาย
01 กรกฎาคม 2557
ความยาว
36 หน้า
ราคาปก
ฟรี
เขียนรีวิวและให้เรตติ้ง
คุณสามารถเข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็นได้จ้า