Icon Close

นิตยสาร Creative Thailand ปีที่ 4 ฉบับที่ 2

Democracy and Feel Good

เมื่อเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ของพม่าได้ให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวบีบีซี โดยถ้อยคำที่ให้สัมภาษณ์นั้นไม่ใช่ข้อความทั่วๆ ไปที่เชิญชวนเรื่องการลงทุนหรือเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่า แต่เป็นคำสัมภาษณ์ด้วยท่าทีสงบนิ่งซึ่งถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของระบอบประชาธิปไตยในพม่า เมื่อเขากล่าวว่า เขาสามารถยอมรับได้ หากชาวพม่าเลือกและสนับสนุนให้นางออง ซาน ซูจี กลายเป็นประธานาธิบดีของพม่า เพราะรัฐบาลพม่าจะต้องยอมรับอุดมการณ์ของประชาชน ไม่ว่าจะมีการเลือกใครก็ตามขึ้นเป็นผู้นำในการเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2015

ทัศนะของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ครั้งนี้ ได้รับคำชื่นชมอย่างกว้างขวางและยังเป็นเหมือนพลุสัญญานที่ส่องทางสดใสให้แก่ประชาธิปไตยของพม่า เพราะหลังจากเก็บตัวอยู่ในเงาของระบอบเผด็จการทหารมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ พม่าก็เดินหน้าสู่ประชาธิปไตยด้วยหนทางที่หลายฝ่ายยังเคลือบแคลงใจ เพราะการพิสูจน์ความจริงแห่งการปฏิรูปประเทศนั้น ต้องมาพร้อมกับการแก้ไขอุปสรรคนานัปการ ทั้งปัญหาความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อย โครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ยังมีไม่ทั่วถึง คุณภาพชีวิตและรายได้ของประชาชนที่ยังอยู่ต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งหากไร้การวางทิศทางในการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น เมื่อประเทศเปิดรับการลงทุนครั้งใหญ่ มันอาจจะยิ่งถ่างช่องว่างของชาวพม่าให้เพิ่มขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเศรษฐกิจโลกต้องวิ่งวุ่นหาที่พึ่งและหลบเลี่ยงจากวิกฤตการเงินในยุโรป และยังต้องเลี้ยวผ่านจีนซึ่งกำลังมีกรณีพิพาทที่ลุกลามบานปลายกับญี่ปุ่นอยู่ในขณะนี้

การเปิดประเทศของพม่าจึงกลายเป็นเรื่องดีที่สุดไม่กี่เรื่องในสภาวะเศรษฐกิจโลกตอนนี้ และยังถือว่ามีนัยสำคัญทางเศรษฐกิจของไทย เพราะพื้นที่แถบนี้จะกลายเป็น "อีโคโนมิกโซน" ที่รวมตั้งแต่พม่า ไทย กัมพูชา ลาว ไปจนถึงเวียดนามหรืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามันเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้เมื่อสินค้าถูกขนส่งมาจากยุโรปหรือแอฟริกาจะสามารถมาพักหรือผลิตที่ไทยเพื่อส่งออกต่อไปยังจีนและญี่ปุ่นได้โดยไม่ต้องพึ่งเส้นทางที่ผ่านช่องแคบมะละกา และเมื่อเชื่อมต่อกับมณฑลยูนนานของจีนเข้าไปด้วย พื้นที่แห่งนี้ก็จะกลายเป็นพื้นที่ที่มีประชากรซึ่งเป็นตลาดบริโภคที่มีขนาดใหญ่กว่า 250 ล้านคน ทั้งยังเต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนแรงงานอายุน้อยที่อาศัยอยู่ทั้งในพม่าและเวียดนาม พื้นที่เชื่อมต่อนี้จึงมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ และเมื่อมองภาพเป็นผืนเดียวกันแล้ว ประเทศไทยจะอยู่ตรงกลางของโอกาสที่ดีที่สุดทั้งหมดนี้

ด้วยบรรยากาศอันดีจากการเปิดกว้างของระบอบประชาธิปไตยและความหวังของชาวพม่าที่จะได้มีโอกาสเลือกชีวิตของตนเอง จะเป็นแรงส่งสำคัญที่หนุนให้พม่าผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเปลี่ยนผ่านของประเทศไปได้ ทั้งการบริหารจัดการภายในประเทศและการเชื่อมต่อกับอนาคตของกลุ่มก้อนเศรษฐกิจพิเศษทั้งหลาย และขณะที่การจัดตั้งกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อยู่ระหว่างการแต่งเนื้อแต่งตัวนั้น สิ่งที่จับต้องได้จริงๆ จากปฏิสัมพันธ์ทางด้านการค้าชายแดน รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรม และความเป็นอยู่ที่เกิดขึ้นแล้วของพม่า ไทย ลาว และจีนนั้น จะยังดำเนินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันที่ชายแดนของไทย สิ่งนี้น่าจะเป็นแรงกระตุ้นให้เราต้องขบคิดและไตร่ตรองถึงอนาคตให้ถี่ถ้วนขึ้น มิเช่นนั้นโอกาสที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตใหม่อาจจะลอยผ่านไปเฉยๆ และทิ้งไว้ให้เพียงแค่ความเสียดาย

ในเล่มพบกับ...

The Object… Dawei Rising Star
Classic Item… Hynat-phanat
Cover Story… Virgin Territory พม่ากับอนาคตที่ปรารถนา
Creative Entrepreneur… ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยแม่ศรีวรรณ
CreativeCity… เชียงราย การเปลี่ยนผ่านของฤดูกาล
ประเภทไฟล์
pdf
วันที่วางขาย
02 พฤศจิกายน 2555
ความยาว
36 หน้า
ราคาปก
ฟรี
เขียนรีวิวและให้เรตติ้ง
คุณสามารถเข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็นได้จ้า