Icon Close

นางนพมาศ

นางนพมาศ
Icon RatingIcon RatingIcon RatingIcon RatingIcon Rating
No Rating
ประเภทไฟล์
pdf, epub
วันที่วางขาย
28 พฤศจิกายน 2566
ความยาว
105 หน้า (≈ 31,616 คำ)
ราคาปก
329 บาท (ประหยัด 48%)
นางนพมาศ หรือ เรวดีนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นสตรีที่ปรากฏอยู่ใน เรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่อ้างอิงว่าถูกรจนาขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีเนื้อความว่านางนพมาศบอกเล่าถึงความเป็นไปภายในรัฐสุโขทัยว่ามีความเจริญรุ่งเรืองสมบูรณ์พูนสุขนานัปการ ในรัฐมีคนต่างชาติต่างภาษาและศาสนาอาศัยอยู่ร่วมกัน และเรื่องที่เด่นที่สุดคือการที่นางประดิษฐ์กระทงขึ้นมา จนนางนพมาศได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของประเพณีลอยกระทง กล่าวกันว่านางนพมาศมีรูปโฉมงดงาม ในยุคหลังเมื่อคราเทศกาลลอยกระทงก็มีการประกวดประขันนางนพมาศสืบมา

ในเรื่องนางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ระบุว่า นางนพมาศเป็นธิดาของพราหมณ์ในราชสำนักสมัยกรุงสุโขทัย รับราชการเป็นพระปุโรหิตตำแหน่งพระศรีมโหสถ ยศกมเลศครรไลหงส์ พงศ์มหาพฤฒาจารย์ กับมารดาชื่อนางเรวดี นางนพมาศจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า เรวดีนพมาศตามนามมารดา ต่อมาบิดามารดาของนางได้ถวายตัวนางแก่พระร่วงเจ้า (บางแห่งว่าคือพญารามราช บ้างว่าเป็น พญาเลอไท) และเลื่อนเป็นพระสนมเอกในตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เนื่องด้วยคิดค้นประดิษฐ์กระทงรูปดอกบัวในพระราชพิธีจองเปรียงเป็นที่ถูกพระราชหทัยพระร่วงเจ้า
อย่างไรก็ตามได้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการมีตัวตนจริงของนางนพมาศ มีนักประวัติศาสตร์หลายท่าน เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, นิธิ เอียวศรีวงศ์ และสุจิตต์ วงษ์เทศ เห็นว่าเรื่องนางนพมาศนั้นเป็นเพียงเรื่องที่แต่งขึ้นช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์เท่านั้นเอง

หนังสือเรื่องนี้เรียกกันเป็น 3 ชื่อ เรียกว่าเรื่องนางนพมาศชื่อ 1 เรียกว่าเรื่องเรวดีนพมาศชื่อ 1 เรียกตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ชื่อ 1 แต่ที่จริงก็หมายความอันเดียวกัน เพราะผู้ที่ว่าแต่งหนังสือเรื่องนี้กล่าวกันว่าชื่อนางนพมาศ บิดาเป็นพราหมณ์รับราชการในตำแหน่งที่พระศรีมโหสถ ครั้งนครศุโขไทยเป็นราชธานีของสยามประเทศ มารดาของนางนพมาศชื่อนางเรวดี บิดามารดาได้นำนางนพมาศถวายทำราชการในสมเด็จพระร่วงเจ้า ได้เป็นพระสนมเอกตำแหน่งท้าวศรีจุฬาลักษณ์ อาไศรยปวัติของนางที่ปรากฏดังนี้ จึงเรียกชื่อหนังสือนี้ต่าง ๆ กันดังกล่าวมาแล้ว ส่วนข้อความของหนังสือเรื่องนี้ ตอนต้นกล่าวด้วยมนุษชาติ และต่อมากล่าวแสดงเหตุที่บิดามารดานำเข้าไปถวายตัวเป็นพระสนม แล้วพรรณาถึงน่าที่ข้าราชการฝ่ายในตลอดไปจนแบบวิธี 12 เดือน ซึ่งมีเป็นราชประเพณีในครั้งกรุงศุโขไทยเป็นที่สุด

ว่าโดยทางโวหาร ใคร ๆ อ่านหนังสือเรื่องนี้ด้วยความสังเกต จะแลเห็นได้โดยง่าย ว่าเป็นหนังสือแต่งในครั้งกรุงรัตนโกสินทรนี้เอง แต่งในระหว่างรัชการที่ 2 กับที่ 3 ไม่ก่อนนั้นขึ้นไป ไม่ทีหลังนั้นลงมาเป็นแน่ ถ้าจะหาพยาน จงเอาสำนวนหนังสือเรื่องนี้ไปเทียบกับสำนวนหนังสือจาฤกครั้งศุโขไทย หรือหนังสือที่เชื่อว่าแต่งครั้งกรุงศุโขไทย เช่นหนังสือไตรภูมิพระร่วงเป็นต้น หรือแม้ที่สุดจะเอาไปเทียบกับหนังสือที่แต่งเพียงในชั้นกรุงเก่า ก็จะเห็นได้แน่นอนว่า สำนวนหนังสือเรื่องนางนพมาศเป็นหนังสือแต่งใหม่เป็นแน่ และยังซ้ำมีความที่กล่าวผิด ที่จับได้โดยแจ่มแจ้งว่าเป็นของใหม่หลายแห่ง ยกตัวอย่างดังตรงว่าด้วยชนชาติต่าง ๆ หนังสือนี้ออกชื่อฝรั่งหลายชาติ ซึ่งที่จริงไม่ว่าชาติใดยังไม่มีเข้ามาในประเทศนี้เมื่อครั้งนครศุโขไทยเป็นราชธานีเป็นแน่ อิกข้อ 1 ที่ว่าครั้งกรุงศุโขไทยมีปืนใหญ่ขนาดหนักนับด้วยหลายหาบ ปืนใหญ่ในครั้งนั้นก็ยังไม่เกิดขึ้นในโลก แต่ที่ผิดน่าพิศวงยิ่งกว่าอย่างอื่นนั้นมีแห่ง 1 ที่ลงชื่อว่าชาติฝรั่งอเมริกันลงไว้ในนั้นด้วย ชาติอเมริกันพึ่งเกิดขึ้นยังไม่ถึง 200 ปี จะมีในครั้งพระร่วงอย่างไรได้ แม้แต่คำว่าอเมริกันเองก็พึ่งเกิดขึ้นในครั้งกรุงเก่าเป็นราชธานี เพราะฝรั่งช่างทำแผนที่คน 1 ไปทำแผนที่ให้ปรากฎรู้ได้ชัด ว่าเป็นทวีป 1 ต่างหาก มิใช่อินเดียฝ่ายตวันตก ดังเข้าใจกันมาแต่ก่อน จึงได้เรียกทวีปนั้นว่าอเมริกัน ตามชื่อช่างแผนที่ผู้ที่ไปพบความข้อนี้ เมื่อสำนวนหนังสือเห็นได้ว่าเป็นหนังสือครั้งกรุงรัตนโกสินทร ด้วยเหตุต่าง ๆ ดังกล่าวมานี้ประการ 1 ยังซ้ำหนังสือเรื่องนี้ฉบับที่ข้าพเจ้าเคยได้พบมาแต่ก่อน ล้วนเป็นฉบับที่ผู้ร้ายในทางหนังสือ ได้แทรกแซงแปลงปลอมเสียจนเลอะเทอะด้วยอิกประการ 1 ข้าพเจ้าจึงมิได้มีความนิยมต่อหนังสือเรื่องนางนพมาศ จนถึงได้นำความกราบบังคมทูล ฯ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในที่ชุมนุมโบราณคดีสโมสร ว่าข้าพเจ้าไม่เชื่อหนังสือเรื่องนี้ว่าเป็นหนังสือของนางนพมาศจริงดังอ้างไว้ในตัวเรื่อง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชาธิบายว่า หนังสือเรื่องนี้ได้เคยทอดพระเนตรฉบับหลวง แต่ถึงฉบับหลวงก็เป็นหนังสือแต่งใหม่ในชั้นกรุงรัตนโกสินทร อย่างข้าพเจ้าคิดเห็นนั้นเป็นแน่ไม่มีที่สงไสย แต่ท่านผู้ศึกษาโบราณคดีแต่ก่อนมา มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแลกรมหลวงวงษาธิราชสนิทเป็นต้น ทรงนับถือหนังสือเรื่องนี้อยู่ ชะรอยเรื่องเดิมเขาจะมีอยู่บ้าง แต่ฉบับเดิมจะบกพร่องวิปลาศขาดหายไปอย่างไร จึงมีผู้ใดในชั้นกรุงรัตนโกสินทรนี้แต่งใหม่ โดยตั้งใจจะปฏิสังขรณ์ให้เรียบร้อย แต่ผู้แต่งนั้นเผลอไป มิได้พิเคราะห์ความจริงเท็จในทางพงษาวดารอย่างเรานิยมกันทุกวันนี้ แต่งแต่จะให้ไพเราะเพราะพริ้ง เรียงลงไปตามความที่รู้ที่มีอยู่ในเวลาแต่งหนังสือ เรื่องหนังสือจึงวิปลาสไป

ได้ทราบพระกระแสพระราชดำริห์ดังกล่าวมาแล้ว ข้าพเจ้ายังหาหนังสือเรื่องนางนพมาศที่เป็นฉบับดีไม่ได้ จึงยังมิได้พิจารณาหนังสือเรื่องนี้ต่อมา จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้จัดหอพระสมุดวชิรญาณขึ้นเป็นหอสมุดสำหรับพระนคร เมื่อปีมเสงจุลศักราช 1267 พ.ศ. 2448 และโปรดให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จดำรงพระเกียรติยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เป็นสภานายกของกรรมการ ได้หนังสือเก่ามารวบรวมไว้ในหอพระสมุดวชิรญาณอิกมาก ในพวกหนังสือที่หาได้ มีหนังสือเรื่องนางนพมาศนี้หลายฉบับ ฉบับ 1 เป็นของเจ้าพระยารัตนบดินทร์ แต่ยังเป็นเจ้าพระยาพลเทพ ซึ่งเชื่อได้ว่าพวกผู้ร้ายปลอมหนังสือมิได้จับต้อง มีอยู่เล่มสมุดไทย 1 เป็นฉบับของพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดาทูลเกล้าถวาย ฯ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ทรงค้นได้มาอิก 3 เล่ม ซึ่งเป็นฉบับดีอย่างเดียวกัน แลบางทีจะเป็นฉบับเดียวกับของเจ้าพระยารัตนบดินทร์ด้วยซ้ำไป เพราะรวมเข้ากันได้พอเต็มเรื่องแต่ต้นจนปลายบริบูรณ์ ข้าพเจ้าจึงเอามาอ่านพิจารณาดูโดยถ้วนถี่เมื่อในรัชกาลปัตยุบันนี้ เมื่ออ่านตลอดเรื่องแล้ว คิดเห็นความจริงงามจะเป็นอย่างกระแสพระราชวิจารณ์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ หนังสือเรื่องนี้ของเดิมเขาจะมีจริง เพราะลักษณพิธีของพราหมณ์ที่กล่าวไว้ในหนังสือเรื่องนี้ โดยมากเป็นตำราพิธีจริงแลเป็นพิธีอย่างเก่า อาจจะใช้เป็นแบบแผนก่อนครั้งกรุงศรีอยุทธยา ไม่ใช่เรื่องที่ผู้ใดจะมาคิดปลอมขึ้นใหม่ได้ทั้งหมด ดีร้ายหนังสือเรื่องนางนพมาศนี้ของเดิมจะมาในจำพวกหนังสือตำราพราหมณ์ ซึ่งเขียนด้วยตัวหนังสือพราหมณ์เป็นภาษาไทย หนังสือจำพวกนี้แม้ในหอพระสมุดวชิรญาณทุกวันนี้ก็มีอยู่บ้าง หนังสือเรื่องนางนพมาศ ถ้ามาโดยทางตำราพราหมณ์ฉบับเดิมจะขาด ๆ วิ่น ๆ อยู่อย่างไร จึงมีผู้มาแต่งขึ้นใหม่ เมื่อรัชกาลที่ 2 หรือที่ 3 ในกรุงรัตนโกสินทร์ดังกล่าวมาแล้ว

พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระสมมตอมรพันธุ์ ได้เคยทรงสดับกระแสรับสั่งในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ข้าราชการฝ่ายในที่เป็นผู้เฒ่าผู้แก่ รับราชการมาแต่ในรัชกาลที่ 3 ได้เคยกราบบังคมทูล ฯ ว่า หนังสือเรื่องนางนพมาศนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชนิพนธ์แทรกไว้ตอน 1 เปรียบเทียบกับกิริยาอาการของข้าราชการฝ่ายในเป็นเชิงทรงบริภาษ แต่จะเป็นตรงไหนไม่ปรากฎ เมื่อข้าพเจ้าได้ทราบความข้อนี้มาตรวจต้นฉบับดู เห็นความในตอนนางนพมาศเจรจากับบิดามารดาเมื่อก่อนจะเข้าไปรับราชการ คือตั้งแต่น่า 27 จนน่า 60 ในหนังสือที่พิมพ์ฉบับนี้เป็นความว่าเปรียบเทียบนิสัยหญิง และโวหารที่แต่งดีมาก ตอนนี้อาจจะเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ควรผู้อ่านจะสังเกตดู
ประเภทไฟล์
pdf, epub
วันที่วางขาย
28 พฤศจิกายน 2566
ความยาว
105 หน้า (≈ 31,616 คำ)
ราคาปก
329 บาท (ประหยัด 48%)
เขียนรีวิวและให้เรตติ้ง
คุณสามารถเข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็นได้จ้า