Icon Close

นิตยสาร Creative Thailand ปีที่ 4 ฉบับที่ 9

ประชาธิปไตยในโลกศิลปะ

ประตูของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งอัมสเตอร์ดัม หรือ ไรค์มิวเซียม (Rijksmuseum) เปิดขึ้นอย่างสง่าผ่าเผยอีกครั้งเมื่อเมษายนที่ผ่านมา หลังจากโครงการปรับปรุงที่ยาวนานกว่า 10 ปี แต่สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ซึ่งน่าตื่นตาตื่นใจไปกว่าสถาปัตยกรรมและคอลเล็กชั่นศิลปะ ก็คือการเปิดตัว “ไรค์ สตูดิโอ (Rijks Studio)” คลังผลงานศิลปะในรูปแบบดิจิทัลขนาด 125,000 ชิ้น จากวัตถุสะสมของพิพิธภัณฑ์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ผ่านฐานข้อมูลออนไลน์ โดยทุกชิ้นงานเป็นภาพที่มีความละเอียดสูง สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีและไม่มีลิขสิทธิ์ เพื่อเปิดให้ผู้ที่สนใจทุกคนสามารถนำไปใช้ได้อย่างเสรี ทาโก ดิบบิตส์ (Taco Dibbits) ผู้อำนวยการคอลเล็กชั่นออนไลน์ได้กล่าวถึงความสำคัญของโครงการนี้ว่า นี่คือสิ่งที่ทำให้ไรค์มิวเซียมกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ของทุกคน และไรค์ สตูดิโอ ก็คือการเปิดโอกาสเพื่อการแบ่งปันงานศิลปะให้แก่บรรดาคนรักงานศิลป์ให้สามารถเข้าถึงผลงานได้อย่างง่ายดายภายใต้นวัตกรรมและเทคโนโลยียุคดิจิทัล

ไม่เพียงแต่การได้ชื่นชมและครอบครองงานศิลปะผ่านโลกออนไลน์ แต่หน้าที่สำคัญอีกด้านหนึ่งของ ไรค์ สตูดิโอ ก็คือการเผยแพร่มรดกทางศิลปะไปสู่แรงบันดาลใจในผลงานใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน และเพื่อนำเสนอมุมมองด้านนี้ “โดรก สตูดิโอ (Droog Studio)" จึงได้เข้ามาเสนองานชิ้นแรกจากการตีความศิลปะยุคคลาสสิกให้เข้ากับความร่วมสมัยด้วยผลงาน “รอยสัก (Tattoo)” ที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดดอกไม้ Stilleven met bloemen in een glazen vaas (Still Life with Flowers) โดย แจน เดวิดสซ์น. เดอ ฮีม (Jan Davidsz. de Heem) ในสมัยศตวรรษที่ 17 ซึ่งต่อมาได้พัฒนากลายมาเป็นโปสการ์ด สติ๊กเกอร์ และปรากฏบนชิ้นงานอื่นๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งความใจกว้างของไรค์มิวเซียมนี้อยู่บนแนวคิดเดียวกับห้องสมุดของเมืองชตุทท์การ์ท (Stadbibliothek Stuttgart) ที่เปิดให้ประชาชนสามารถยืมผลงานศิลปะไปตกแต่งในที่พักอาศัยได้ไม่ต่างกับการยืมหนังสือไปอ่านที่บ้าน โดยสามารถยืมชิ้นงานศิลปะที่สนใจได้ยาวนานถึง 1 ปี ทั้งหมดนี้ด้วยเชื่อว่า เมื่อผู้คนได้ใกล้ชิดและซึมซาบในงานศิลปะ พวกเขาจะได้แรงบันดาลใจไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และนั่นจะทำให้วงการศิลปะเติบโตได้ในทุกๆ ที่ ไม่ใช่จำกัดอยู่เพียงการชื่นชมในพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรีเท่านั้น

ในจิตวิญญานของโลกศิลปะนั้น มีความเสรีเกินกว่าจะเป็นเพียงเครื่องบ่งชี้สถานะของระบอบศักดินาหรือความมั่งคั่งของโลกทุนนิยม เพราะศิลปะไม่ใช่สิ่งแปลกปลอม ไม่ใช่เรื่องของระยะห่าง หรือไม่ใช่การอนุรักษ์ให้เป็นมรดกทางประวัติศาสตร์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ศิลปะต้องลื่นไหลและสร้างบทสนทนาให้กับผู้คนได้อย่างไร้ขอบเขต อันจะทำไปสู่ความงอกเงยในมิติต่างๆ ทั้งการจรรโลงจิตใจ อารมณ์ รวมไปถึงแรงบันดาลใจสู่นวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยเหตุนี้ บทสนทนาระหว่างผู้ชื่นชมกับชิ้นงานย่อมเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเกิดการพบเห็น การสัมผัสและเข้าถึง เพื่อนำไปสู่การพินิจพิเคราะห์และให้คุณค่าใหม่ๆ ตามแต่สายตาของผู้มอง

ดังนั้น ที่อยู่ของผลงานศิลปะอันเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ทั้งหมดที่ว่ามานี้ จึงไม่ควรถูกจำกัดอยู่แค่พื้นที่ทางกายภาพของแกลเลอรี หอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ หรือการสรรหาพื้นที่เพื่อนำเสนอศิลปะในแขนงต่างๆ เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพื้นที่สนทนาบนโลกออนไลน์ที่เชื่อมต่อกับผู้คนได้ทุกที่ ทุกเวลา และพื้นที่ที่สำคัญที่สุดอย่างพื้นที่ทางความคิดภายในใจของผู้คน ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของการเปิดกว้างให้โลกศิลปะได้เติบโตเพื่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ในเล่มพบกับ...

The Subject…Biennale แค่คลิก
Matter…Art and Materials
Cover Story… พื้นที่ศิลปะ พื้นที่ชีวิต
Creative City…NAOSHIMA: Where Art Space Lands on Seascape
Creative Will…Thai Art Archives: "History is ours."
ประเภทไฟล์
pdf
วันที่วางขาย
31 พฤษภาคม 2556
ความยาว
36 หน้า
ราคาปก
ฟรี
เขียนรีวิวและให้เรตติ้ง
คุณสามารถล็อกอินเพื่อแสดงความคิดเห็นได้จ้า