๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เป็นวันครบรอบ ๓๐ ปี ของการกำเนิด “หมอชาวบ้าน”
หมอชาวบ้าน มีนัยหนึ่ง คือ ทำชาวบ้านให้เป็นหมอ หมายถึงการส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้และทักษะในการดูแลสุขภาพตนเองไม่ให้เจ็บป่วย หากจะเจ็บป่วยก็ไม่ให้เป็นรุนแรง หากจะเป็นรุนแรงก็ไม่ให้ตาย และหากจะตายก็ดูแลให้ตายดี (อย่างมีศักดิ์ศรีและประหยัด)
หมอชาวบ้าน มีอีกนัยหนึ่ง คือ ทำหมอให้เป็นชาวบ้าน หมายถึง การส่งเสริมให้นักวิชาชีพสาธารณสุข เป็นหมอที่เข้าใจและเข้าถึงผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชน สามารถดูแลประชาชนอย่างเป็นองค์รวม ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์และมีบทบาทในการเสริมพลังสร้างสุขภาพแก่ประชาชน
ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา หมอชาวบ้านได้ดำเนินกิจกรรมในนามมูลนิธิหมอชาวบ้าน อันเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่มุ่งค้ากำไร มีการจัดทำสิ่งพิมพ์และสื่อต่างๆ เพื่อเผยแพร่แนวคิดและความรู้ด้านสุขภาพแบบองค์รวมแก่ประชาชนและนักวิชาชีพสาธารณสุข รวมทั้งร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนต่างๆ ในการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณสุขต่างๆเนื่องในวาระครบรอบ ๓๐ ปีของการก่อตั้งหมอชาวบ้าน จึงได้จัดทำ
หนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นที่ระลึก โดยได้รวบรวมประวัติ แนวคิด และผลงานสำคัญๆ เพื่อเป็นบทเรียนแก่ผู้สนใจ นอกจากนี้ ยังได้นำบทปาฐกถาพิเศษเรื่อง “อดีต ปัจจุบัน อนาคตของสื่อสร้างสรรค์สุขภาพ และอยู่ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจอย่างมีสุขภาวะ” ของศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ผู้ก่อตั้งและผู้เป็นเสาหลักของหมอชาวบ้านที่แสดงในวันระลึกครบรอบ ๓๐ ปี หมอชาวบ้าน (๑ พฤษภาคม ๒๕๕๒) มาตีพิมพ์ไว้ในหนังสือเล่มนี้
ท้ายที่สุดนี้ ผมขอขอบคุณ คุณแก้ว วิฑูรย์เธียร ผู้ปฏิบัติงานอาวุโส ที่ร่วมบุกเบิกงานหมอชาวบ้านมาตั้งแต่แรก ที่ได้รวบรวมเรียบเรียงเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ และทีมงานหมอชาวบ้านทุกท่านที่ได้ร่วมมือร่วมใจ จัดทำหนังสือเล่มนี้ออกมาเป็นหลักชัยแห่งปีที่ ๓๐ ของหมอชาวบ้าน
(นายแพทย์สุรเกียรติ อาชานานุภาพ)
บรรณาธิการบริหารนิตยสารหมอชาวบ้าน
วันที่วางขาย
14 กุมภาพันธ์ 2555
ความยาว
97 หน้า (≈ 24,902 คำ)
ราคาปก
0 บาท (ประหยัด 100%)