Icon Close

คิด - Creative Thailand ปีที่ 2 ฉบับที่ 5

จากยูนนานถึงแหลมฉบัง

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2010 บนหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ปรากฏโฆษณาเนื่องในโอกาสวันครบรอบ 61 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน เนื้อหาสำคัญในนั้น มิใช่มุ่งเน้นการคารวะต่อท่านประธานเหมา หรือเชิดชูวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของนายเติ้ง เสี่ยวผิง หากแต่กล่าวถึงความร่วมมือในการพัฒนากิจการรถไฟระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ สาธารณรัฐประชาชนจีน

โครงการสร้างทางรถไฟดังกล่าวนี้ พาดผ่านจากเหนือจรดใต้ของไทยด้วย 5 เส้นทาง เริ่มลำดับแรกที่เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ซึ่งจะเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟสายคุนหมิง-เวียงจันทน์ และโครงการที่สอง กรุงเทพฯ-ระยอง ที่มีปลายทางที่แหลมฉบัง อันจะเป็นการเปิดพื้นที่การขนส่งใหม่จากมณฑลยูนนานออกสู่ทะเล ทั้งหมดนี้คงไม่ยากที่จะจินตนาการว่า ไทยและจีนจะร่วมความไพบูลย์แห่งเศรษฐกิจอันมาจากการลงทุนและผลพวงของการใช้ ระบบลอจิสติกส์ใหม่ พร้อมๆ กันนั้น จีนก็ไม่รีรอที่จะสร้างเส้นทางสายไหมของศตวรรษใหม่ให้รุดหน้าในประเทศอื่นๆ เช่นกัน ดังนั้นแล้ว ผลผลิตมากมายจึงจะถูกส่งต่อและกระจายออกไปอย่างกว้างขวางในระยะเวลาอันสั้น ผู้คนจะได้ลิ้มลองรสชาติใหม่ของอาหาร อากาศ และวัฒนธรรม ชีวิตจะเปลี่ยน และโลกจะไม่เหมือนเดิมอย่างที่เคยเป็นมา

จีนกำลังทะยานสู่การเติบโต ทางเศรษฐกิจอย่างอัศจรรย์ ท่ามกลางความอิจฉาที่จีนมั่งคั่ง ในขณะที่เศรษฐกิจของตะวันตกเข้าขั้นหายนะ พร้อมกับคำครหาในฐานะผู้ร้ายซึ่งก่อมลพิษ และกีดกันสิทธิมนุษยชนมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่กระนั้นหลายประเทศก็เลือกที่จะหลับตาข้างหนึ่งเสียและจับมือทำธุรกิจกับ จีนอย่างกระตือรือร้น เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจที่รออยู่ข้างหน้า เพราะหลังจากหลับใหลมายาวนาน และทดลองชิมรสชาติระบบทุนนิยมด้วยการประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษของเติ้ง เสี่ยวผิง เมื่อ 30 ปีที่แล้ว จีนก็วางเดิมพันสูงด้วยการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2008 อันถือเป็นสัญญาณที่บอกกับโลกว่า ภาพของจีนนั้นเปลี่ยนไปแล้ว จากประเทศที่วุ่นวาย ไร้ระเบียบ เต็มไปด้วยแรงงานราคาถูกแต่ขาดแคลนทักษะ กลายเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ มีกองทัพแรงงานที่แข็งขัน และพรั่งพร้อมด้วยทุนทางวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งซึ่งพร้อมจะถูกนำมาใช้อย่างถูก ที่ถูกเวลา

เส้นทางรถไฟสายแรกที่จีนจะเข้ามาลงทุนในไทยนั้น มีกำหนดระยะเวลาสร้าง 4 ปี เงื่อนเวลาดังกล่าวทำให้เราต้องเริ่มนับถอยหลังกับปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้น และถ้าไม่อยากตกขบวนรถไฟ เรายังพอมีเวลาที่จะสำรวจตัวเองอย่างจริงจังอีกครั้งว่า ทุนทางปัญญาและทุนวัฒนธรรมที่มีอยู่นั้น ยังแข็งแกร่งพอที่จะรับความเปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่

ในเล่มพบกับ…

• Cover Story…จีนกับการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ
• Insight…งามอย่างจีน การเคลื่อนที่ทางคุณค่ากลับมาทางตะวันออก
• Object…Hi Panda ของเล่นหน้าตาขี้หงุดหงิดที่บอกถึงความจริงร่วมสมัย
• Classic Item…Chinese Propaganda Poster เครื่องมือต้นทุนต่ำประสิทธิภาพสูงในการจัดระเบียบความคิด
• Creative City…เซี่ยงไฮ้ เมืองแห่งฝันที่ตื่นขึ้นอีกครั้ง
• The Creative…โรบิน หลี่ “ชายผู้พิชิตกูเกิล”

ที่มา http://www.creativethailand.org/th/magazine
เนื้อหาเผยแพร่ภายใต้สัญญาอนุญาต ครีเอทีฟคอมมอนส์ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 ประเทศไทย
ประเภทไฟล์
pdf
วันที่วางขาย
16 สิงหาคม 2554
ความยาว
36 หน้า
ราคาปก
ฟรี
เขียนรีวิวและให้เรตติ้ง
คุณสามารถล็อกอินเพื่อแสดงความคิดเห็นได้จ้า