Icon Close

นิตยสาร Creative Thailand ปีที่ 3 ฉบับที่ 7

วาระแห่งชาติ

กว่าจะได้มาซึ่งผลงานออกแบบที่เยี่ยมยอดสักชิ้น ต้องผ่านพิธีกรรมแห่งตรรกะกับปริมาณของเวลาจำนวนหนึ่ง

แต่กว่าจะได้มาซึ่งนักออกแบบที่ยอดเยี่ยมสักคนหนึ่ง มันต้องใช้พลังงานและเวลามากกว่านั้น

ในชีวิตจริง มีอะไรมากกว่าแค่ความกระหายที่จะแปรความคิดมาสู่ข้าวของที่ใช้สอยได้จริงๆ เพราะความรู้ที่เป็นทุนเดิมอาจไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า และแรงบันดาลใจที่มีก็อาจไม่แข็งแกร่งพอจะทนกับแรงเสียดทาน ขณะที่ชิ้นงานต้นแบบที่น่าทึ่งยังอาจถูกมองข้าม ไร้ผู้ผลิต ไร้ผู้ลงทุน และไร้โอกาส

แต่บางครั้งชีวิตก็ไม่ได้โหดร้ายเสมอไป อาร์เธอร์ ฮวง สถาปนิกชาวไต้หวันกับทีมงานมินิวิซได้พิสูจน์สิ่งนั้นแล้ว โครงการ EcoARK อาคารนิทรรศการหลักของงาน Taipei International Flora Exposition ในปี 2010 คือผลผลิตที่น่าระทึกใจ อาร์เธอร์คิดค้นและพัฒนาวัสดุรับแรง "โพลี-บริกก์" ที่ผลิตจากขวดพลาสติกพีอีทีรีไซเคิล 1.5 ล้านขวด ซึ่งกว่าจะได้มาซึ่งสถาปัตยกรรมที่ได้รับการชื่นชมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกการออกแบบ พวกเขาต้องใช้ความพยายามเพื่อสรรหาเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญในการแปรขยะพลาสติกให้เป็นอิฐ ต้องทดสอบความแข็งแกร่งทนทานของโพลี-บริกก์ ที่มีต่อลมพายุ แผ่นดินไหว การทนไฟ ร่วมกับนักวัสดุศาสตร์ วิศวกร นักดับเพลิง และฝ่ายกฎหมายของเทศบาลเมือง โดยที่ขั้นตอนต่างๆ ต้องดำเนินไปแข่งกับเวลาและเงินทุน แต่โชคดีที่โครงการนี้เกิดจากวิสัยทัศน์สุดโต่งของนายกเทศมนตรีเมืองไทเป กับ ดักลัส ชูว์ ซีอีโอของกลุ่มฟาร์อีสเทิร์น ผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ที่ต้องการส่งเสริมความเป็นไปได้ในการรีไซเคิลกับชีวิตประจำวัน ดังนั้นเมื่อ EcoARK อวดโฉมต่อสาธารณะ นวัตกรรมการออกแบบล้ำเลิศ อันเกิดจากส่วนผสมของนโยบายรัฐ เงินลงทุนจากภาคเอกชน เวทีการแสดงผลงานระดับโลก ความรู้สหสาขาวิชาจากสถาบันการศึกษา และความช่วยเหลือของสมาคมวิชาชีพ ก็ส่งให้นักออกแบบหนุ่มคว้าความสำเร็จไว้ในกำมือ

องค์ประกอบในการสร้างนักออกแบบให้เป็นผลผลิตของสังคมนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ประเทศจำเป็นต้องมีทิศทางที่ชัดเจนเพื่อเชื่อมต่อศักยภาพของความคิดสร้างสรรค์เข้ากับโอกาสในทุกมิติ จากสถิติปี 2009 ของสำนักบัญชีประชาชาติ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า กลุ่มงานสร้างสรรค์และออกแบบ (Functional Creation) ของไทย อาทิ เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ เครื่องหนังรองเท้า ฯลฯ เป็นกลุ่มที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงถึง 912,378 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.6 ของจีดีพี ตัวเลขดังกล่าวน่าจะเพียงพอที่จะบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศของเราควรเดิมพันอนาคตกับอุตสาหกรรมด้านการออกแบบ และอนาคตครั้งนี้ยังต้องถูกจัดวางอย่างเหมาะสมและเป็นวาระของประเทศ เพื่อนำไปสู่การวางนโยบายการออกแบบแห่งชาติ ผ่านกลไกของภาครัฐ แรงขับเคลื่อนของภาคเอกชน และห่วงโซ่อื่นๆ ที่ต่อเชื่อมถึงกันอย่างสมบูรณ์

การเปลี่ยนความช่างฝันให้เป็นอัจฉริยะ และการแปรความคิดให้เป็นผลผลิต บางครั้งก็ไม่ควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะถ้าหากเป็นเช่นนั้นแล้ว ในที่สุดสังคมก็อาจได้แค่คนธรรมดาๆ อีกคนที่พยายามจะคิดนอกกรอบเท่านั้นเอง

ในเล่มพบกับ...
The Object… Zona Tortona
Classic Item… Royal Academy of Art
Cover Story… Upcoming designer
Creative City… CAPETOWN ออกแบบเพื่อประชาธิปไตย
The Creative… ม.ล.ภาวินี สันติศิริ ประสบการณ์เติบใหญ่ของนักออกแบบไทย
ประเภทไฟล์
pdf
วันที่วางขาย
02 เมษายน 2555
ความยาว
36 หน้า
ราคาปก
ฟรี
เขียนรีวิวและให้เรตติ้ง
คุณสามารถเข้าสู่ระบบเพื่อแสดงความคิดเห็นได้จ้า